Header Ads

ปรับกลยุทธ์องค์กรไทย จัดซื้อจัดจ้างอย่างไร ให้ไปสู่ความยั่งยืน


KEY SUMMARY

แนวโน้ม Sustainable supply chain เป็นปัจจัยเร่งให้องค์กรต้องจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน อีกทั้ง จะช่วยสร้าง Resilient supply chain และเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร

การผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับแนวโน้ม Sustainable supply chain ต้องเริ่มต้นจากการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน นำมาซึ่งแรงกดดันให้ผู้ประกอบการต้องคัดเลือกผู้จำหน่ายวัตถุดิบที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงไม่มีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม อีกทั้ง ผู้ประกอบการมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงที่หลากหลาย รวมถึงยังคาดการณ์และรับมือได้ยาก เช่น วิกฤตโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนจะช่วยสร้าง Resilient supply chain ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการตอบสนองต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนจะช่วยให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร ทั้งสร้างความโปร่งใส ลดต้นทุน ลดความเสี่ยง ตลอดจนเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี

หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องขยับเป้าหมายไปสู่การจัดซื้อจัดจ้างที่ครอบคลุมการให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมเพิ่มเติม

ปัจจุบันไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในด้านสิ่งแวดล้อมเพียงด้านเดียว ในรูปแบบการกำหนดเกณฑ์สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงกำหนดเป้าหมายสัดส่วนมูลค่า การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปี 2024 อยู่ที่ 60% ของมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการประเภทเดียวกัน และได้กำหนดให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นไปสู่ 80% ในปี 2027 ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐอาจดำเนินการตาม Sustainable Public Procurement Approach ที่ UNEP ได้พัฒนาขึ้น เพื่อเป็นแนวทางสำหรับประเทศที่ต้องการขับเคลื่อนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มุ่งไปสู่ความยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม

การจัดซื้อจัดจ้างของภาคเอกชนอย่างยั่งยืนในไทย ส่วนใหญ่ยังเป็นการดำเนินการเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ จึงจำเป็นต้องส่งเสริม SMEs

การส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างอย่างอย่างยั่งยืนสำหรับ SMEs อาจอยู่ในรูปแบบการจัดทำแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ตลอดจนการให้แต้มต่อสำหรับ SMEs ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนในการเข้าประมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ การฝึกอบรมให้ SMEs สามารถดำเนินการเพื่อให้ได้รับ ISO 20400 ได้ในวงกว้าง ไปจนถึงมาตรการทางภาษี อย่างการนำค่าใช้จ่ายการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงค่าใช้จ่ายการอบรมเกี่ยวกับ ISO 20400 ไปใช้ลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้

นอกจาก E-procurement แล้ว เทคโนโลยีอื่น ๆ ยังมีบทบาทสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน

ผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งมีห่วงโซ่อุปทานซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับคู่ค้าจำนวนมาก อาจนำเทคโนโลยี เช่น Data analytics, AI มาสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ อาจนำ Robotic Process Automation (RPA) มาช่วยเปลี่ยนการจัดซื้อจัดจ้างในส่วนที่เป็นขั้นตอนซ้ำ ๆ กัน ให้เป็นระบบอัตโนมัติ อีกทั้ง อาจนำเทคโนโลยีด้าน Supply chain traceability มาช่วยตรวจสอบคู่ค้าอีกด้วย ในส่วนของ SMEs จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้มีการใช้ E-procurement ผ่านการสนับสนุนเงินทุน และองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ SMEs สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีการใช้ E-procurement อยู่แล้วได้


บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/sustainable-supply-chain

ผู้เขียนบทวิเคราะห์:


นางกัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์
นักวิเคราะห์อาวุโส


ข่าวโดย:

ประชาสัมพันธ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
กุณฑลี โพธิ์แก้ว โทร. 086-1308560 Email: koontalee.pokaew@scb.co.th

No comments

Powered by Blogger.