SCB WEALTH แนะจับตา 5 ปัจจัยเสี่ยงต้องติดตามช่วงครึ่งหลังปี 67 มองยุโรป เกาหลีใต้ เวียดนาม จีน H-Share และไทย Valuation ยังถูกน่าสะสม
SCB WEALTH เดินหน้าจัดงานสัมมนา Exclusive Investment Talk ในหัวข้อ "รู้ทันเศรษฐกิจโลก จัดสรรความมั่งคั่งแบบมีเป้าหมาย" ให้แก่กลุ่มลูกค้า High Net Worth Individuals (HNWIs) โดยมองว่า มี5 ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการจัดพอร์ตลงทุนในครึ่งหลังปี 2567 เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในช่วงที่เหลือของปี 2567 อัตราเงินเฟ้อชะลอลง เศรษฐกิจยุโรป หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ด้านเศรษฐกิจจีน มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามเป้าที่ 5% ส่วนไทย ถูกปรับลดประมาณการ GDP ในปีนี้ลงอย่างต่อเนื่อง ตามการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐฯ ที่ชะลอตัว คาดเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้ ช่วงเดือน ก.ย. และ ธ.ค.รวม 50 bps. ด้านสินทรัพย์ลงทุน นับตั้งแต่ต้นปีจนถึง 31 พ.ค. 2567 ทองคำ ให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ 12.8% หุ้นสหรัฐฯ 10.6% น้ำมัน WTI และ ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว (ไม่รวมหุ้นสหรัฐฯ) 7.5% และหุ้นตลาดเกิดใหม่ 3.5% การจัดพอร์ตหากรับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง แนะแบ่งเงิน 75-85% ไว้ในพอร์ตหลัก กระจายลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯ ตลาดหุ้นที่มีพื้นฐานดี ทั้งในตลาดพัฒนาแล้ว และตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งสินทรัพย์ทางเลือก เช่น REITs และทองคำ ส่วนอีก 15-25% แบ่งลงทุนในตลาดหุ้นที่เห็นโอกาสในการสร้างผลแทบแทนในช่วงเวลานั้น ได้แก่ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เวียดนาม จีน H-Share ยุโรป และไทย จากValuation ค่อนข้างถูก และคาดว่าอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นจะขยายตัวดีขึ้น
นางสาวเกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยในงานสัมมนา Exclusive Investment Talk ภายใต้หัวข้อ "รู้ทันเศรษฐกิจโลก จัดสรรความมั่งคั่ง แบบมีเป้าหมาย " ที่จัดขึ้นให้แก่กลุ่มลูกค้า High Net Worth Individuals (HNWIs) ว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 มี 5 ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อพอร์ตลงทุน ได้แก่ 1) ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจขยายตัวในอัตราชะลอลงมากกว่าที่หลายฝ่ายคาด 2) ความไม่แน่นอนจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) 3) ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ – จีน 4) ความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และ 5) ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ โดย SCB CIO มองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลก เกือบทุกประเทศถูกปรับประมาณการดีขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าอดีต ขณะที่ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มปรับลดลง จากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะหากทรัมป์ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้วนำไปสู่การขึ้นภาษีทุกสินค้านำเข้าจากจีนอย่างน้อย 60% และขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกที่ 10% จะส่งผลกดดันโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ผ่านการค้าและห่วงโซ่อุปทานโลกที่จะแย่ลง
ทั้งนี้ มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในช่วงที่เหลือของปี 2567 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อชะลอลง แต่ยังปรับลดลงค่อนข้างช้า ด้านตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ส่วนเศรษฐกิจยุโรป ได้หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) และปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ด้านเศรษฐกิจจีน มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามเป้าที่ 5% โดยในระยะสั้นได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นรอบใหม่ แต่ในระยะกลาง ยังถูกกดดันจากการชะลอตัวเชิงโครงสร้างของภาคอสังหาฯ และการกีดกันทางด้านการค้าที่รุนแรงมากขึ้น สำหรับเศรษฐกิจไทย ถูกนักเศรษฐศาสตร์ปรับลดประมาณการ GDP ในปีนี้ลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ต้นปี ตามการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาครัฐฯ ที่ชะลอตัว แม้ว่าจะมีแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวก็ตาม
ส่วนความไม่แน่นอนนโยบายการเงินของเฟด มีผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) สหรัฐฯ 10 ปี โดยก่อนหน้านี้ Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น แตะระดับสูงสุดนับจากต้นปี (YTD) ที่ 4.71% แต่หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่า ยังไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และความกังวลข้อพิพาททางการค้ากับจีน ทำให้ Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ลดลง มาอยู่ที่ 4.34% แต่เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น PMI และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคออกมาดี ขณะที่ สมาชิกเฟด ยังคงท่าทีระมัดระวังต่อการลดดอกเบี้ยนโยบาย และรายงานการประชุมฯ รอบล่าสุดที่ค่อนข้างมีมุมมองการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่า เฟดจะเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปหรือไม่ ส่งผลให้ Bond Yield สหรัฐฯ 10 ปี ปรับขึ้นอีกครั้ง โดย ณ วันที่ 31 พ.ค. 2567 อยู่ที่ 4.50% อย่างไรก็ดี มองว่า เฟดมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง รวม 50 bps. ในปีนี้ ในช่วงเดือน ก.ย. และ ธ.ค. ขณะที่ตลาดคาดเฟดปรับลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งเช่นกัน ทำให้หากเฟดลดอัตราดอกเบี้ยน้อยหรือช้ากว่าที่ตลาดคาด จะส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาด เนื่องจาก ต้นทุนการระดมทุนของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจะยังอยู่ในระดับสูงต่อ และกระทบกับกำไรของบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐฯ
ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอื่นๆ คาดว่า ธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. (ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2567 ธนาคารกลางยุโรป ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปีตามคาดการณ์) เร็วกว่าธนาคารกลางส่วนใหญ่ที่คาดว่าจะเลื่อนการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกออกไปเป็นไตรมาสที่ 3-4/2567 ในส่วนของไทย คาดว่า การลดดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในช่วงไตรมาส 4/2567 ขณะที่ ประเทศที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ ญี่ปุ่น ซึ่งได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ช่วงไตรมาส 3/2567 จากเงินเฟ้อที่เริ่มกลับมา และอินโดนีเซีย ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปเมื่อเดือน เม.ย.จากเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่ามาก
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ - จีน ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพิ่งประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าบางรายกับจีน มูลค่าประมาณ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พุ่งเป้าที่สินค้าสำคัญทางยุทธศาสตร์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ แผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า เหล็ก และ อลูมิเนียม โดย SCB CIO คาดว่าผลลบโดยตรงที่เกิดกับจีนยังมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าเหล่านี้ คิดเป็น 0.1% ของ GDP จีน อีกทั้ง บริษัทจีนทยอยรับมือลดการพึ่งพาสหรัฐฯ ผ่านการปรับห่วงโซ่อุปทาน ปรับช่องทางการค้า และมีแนวโน้มกระจายความเสี่ยงทางการค้าอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ - จีน มีแนวโน้มสูงขึ้นหลังจากนี้ จากประเด็นความไม่แน่นอนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2567 อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ ทำให้ความไม่แน่นอนด้านนโยบายระหว่างสหรัฐฯ – จีน ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ทรัมป์ มีแผนจะปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทุกรายการ อย่างน้อย 60% ซึ่งจะกระทบต่อจีน คิดเป็น 0.8% ของ GDP จีน ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงที่ทางการจีนจะยอมปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าอย่างมีนัย เพื่อลดผลกระทบกำแพงภาษี
นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ล่าสุด คือ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ที่ก่อนหน้านี้อิหร่านตอบโต้อิสราเอลโดยตรงเป็นครั้งแรก ทำให้ทั่วโลกกังวลว่าจะนำไปสู่สงครามโลกครั้งใหม่ แต่สุดท้าย สถานการณ์ก็ไม่ได้รุนแรงอย่างที่กังวล เพียงแต่สงครามยังไม่จบ ขณะที่ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อ ทั้งนี้ จากสถิติในอดีต ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง จะกระทบต่อตลาดหุ้นโลกให้ปรับลดลงอย่างมากในกรณีที่ราคาพลังงานเพิ่มขึ้นมาก จนส่งผลกระทบไปยังอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย โดยหากพิจารณาจาก ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปี 2533 – 2567 พบว่า ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบเล็กน้อยในช่วง 1 สัปดาห์หลังสงคราม และเมื่อสงครามผ่านพ้นไปแล้ว หากสงครามอยู่ในวงจำกัด ตลาดหุ้นจะกลับมาให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกได้ ในช่วงตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป ขณะที่ สินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และราคาน้ำมัน จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก โดยเฉพาะในช่วงสั้นที่มีความกังวลบนความขัดแย้ง
น.ส.เกษรี กล่าวว่า เมื่อพิจารณา ผลตอบแทนรวมจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ นับตั้งแต่ต้นปีจนถึง 31 พ.ค. 2567 ทองคำ ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด อยู่ที่ 12.8% ตามด้วย หุ้นสหรัฐฯ อยู่ที่ 10.6% น้ำมัน WTI และ ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว (ไม่รวมหุ้นสหรัฐฯ) อยู่ที่ 7.5% และหุ้นตลาดเกิดใหม่ อยู่ที่ 3.5% อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาควบคู่กับสถิติในอดีต ไม่มีสินทรัพย์ประเภทใดให้ผลตอบแทนโดดเด่นติดต่อกันทุกปี โดยสามารถให้ผลตอบแทนติดลบหรือเป็นบวกได้ในบางปี ดังนั้น หากต้องการรับมือความเสี่ยงที่มีผลต่อการลงทุน เราแนะนำให้ผู้ลงทุนจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Asset Allocation) ซึ่งจะช่วยให้มีโอกาสรับผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอในระยะยาว
สำหรับ การจัดพอร์ตโดยการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่หลากหลาย( Asset Allocation )ในกรณีรับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง ผู้ลงทุนสามารถจัดแบ่งเงินส่วนใหญ่ 75-85% ไว้ในพอร์ตหลักสำหรับการลงทุนระยะยาว (Core Portfolio) โดยควรมีการสำรองสภาพคล่อง พร้อมกระจายเงินลงทุนทั้งในตราสารหนี้ เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้พอร์ตลงทุน เพราะจากสถิติในอดีตบ่งชี้ว่า ในช่วง 6 เดือน และ 12 เดือน หลังเฟด หยุดขึ้นดอกเบี้ย และหลังเฟด ลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ตราสารหนี้ของสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนรวมเป็นบวก รวมถึงลงทุนในตลาดหุ้นที่มีพื้นฐานดี มี Valuation ที่เหมาะสม ทั้งในตลาดพัฒนาแล้ว และตลาดเกิดใหม่ ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) รวมถึง สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ เพื่อกระจายความเสี่ยง ให้พอร์ตมีความมั่งคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น
ขณะที่ เงินอีกส่วน 15-25% สามารถแบ่งไปลงทุนผ่าน พอร์ตเสริมโอกาส (Opportunistic Portfolio) ในตลาดหุ้นที่เห็นโอกาสในช่วงเวลานั้นได้ ซึ่งในปัจจุบัน SCB CIO มองเห็นโอกาสอยู่ใน 5 ตลาด ได้แก่ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ตลาดหุ้นเวียดนาม ตลาดหุ้นจีน H-Share ตลาดหุ้นยุโรป และตลาดหุ้นไทย ที่ Valuation ค่อนข้างถูก ขณะที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์ คาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS growth) ของตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในปี 2567 จะขยายตัวดีขึ้น
คำเตือน
- การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
- สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 02-777-7777
ข่าวโดย:
SAENGSIRI NATEUMPORN
VP, Manager, Public Relationstrategic Marketing Communication and Public Relation Division
Siam Commercial Bank Public Company Limited
Tel : 027956136 Mobile : 0820822121 email : saengsiri.nateumporn@scb.co.th
No comments