ส่งออกเดือน พ.ค. ขยายตัวดี หนุนสัญญาณส่งออกไทยขยายตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และปี 2025
การส่งออกเดือน พ.ค. 2024 ขยายตัวดี หนุนสัญญาณส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่อง
มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน พ.ค. 2024 อยู่ที่ 26,219.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.2%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน) เร่งขึ้นจาก 6.8%YOY ในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกหลังหักทองคำและปัจจัยฐาน
หดตัว -1.3%MOM_SA (เทียบกับเดือนก่อนแบบปรับฤดูกาล) หลังจากเร่งตัวถึง 3.8%MOM_SA ในเดือนก่อน สะท้อนการส่งออกของไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง ในภาพรวมมูลค่าการส่งออกไทย 5 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 120,493.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 2.6%
หดตัว -1.3%MOM_SA (เทียบกับเดือนก่อนแบบปรับฤดูกาล) หลังจากเร่งตัวถึง 3.8%MOM_SA ในเดือนก่อน สะท้อนการส่งออกของไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง ในภาพรวมมูลค่าการส่งออกไทย 5 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 120,493.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 2.6%
การส่งออกไทยเดือนนี้โดดเด่นในกลุ่มสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ฯ ไปตลาดจีน
โดย (1) สินค้าเกษตรขยายตัวมากถึง 36.5% หลังจากหดตัว -3.8% ในเดือนก่อน จากการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งขยายตัวสูงถึง 128% (โดยเฉพาะตลาดจีนที่ขยายตัว 142.4%) ยางพารา 46.6% และไก่แปรรูป 10.2% สินค้าทั้ง 3 ชนิดนี้มีส่วนช่วยให้มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ค. ขยายตัวได้ดีขึ้นถึง 3.9% จากอัตราการขยายตัวรวม 7.2% (2) สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 4.6% ชะลอลงจาก 9.2% ในเดือนก่อน โดยคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ทองคำ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เป็นสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ขณะที่อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว (3) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงขยายตัว 2.6% หลังจากหดตัว -9.2% ในเดือนก่อน และ (4) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวชะลอลงมากเหลือ 0.8% จาก 12.7% ในเดือนก่อน โดยไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ และอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นสินค้าหลักที่ขยายตัว ขณะที่น้ำตาลทรายเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว (รูปที่ 1 และ 3)
ตลาดจีนและอินเดียขยายตัวดีมาก แต่ตลาดออสเตรเลียและตะวันออกกลางกลับหดตัว
โดย (1) ตลาดจีนขยายตัวมากถึง 31.2% หลังจากหดตัวติดต่อกัน 3 เดือน ตามการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งที่พลิกกลับมาขยายตัวสูง 142.4% หลังจากหดตัวติดต่อกัน 3 เดือน (2) ตลาดอินเดียขยายตัวเร่งขึ้น 23% จาก 13.3% ในเดือนก่อน จากการส่งออกไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ที่ขยายตัวมากถึง 196.8% เป็นสำคัญ (13.3% ของมูลค่าการส่งออกไทยไปอินเดียทั้งหมด) นอกจากนี้ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกลยังเป็นสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดีในตลาดอินเดีย ขณะที่ (3) ตลาดออสเตรเลียกลับหดตัว -2.4% หลังจากขยายตัวดีสองหลักต่อเนื่องนาน 7 เดือน จากการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่หดตัว -13.1% (49.5% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปออสเตรเลียทั้งหมด) และ (4) ตลาดตะวันออกกลางกลับมาหดตัวอีกครั้ง -8.1% ในหลายกลุ่มสินค้าสำคัญ (รูปที่ 1)
ดุลการค้าไทยกลับมาเกินดุล ผลจากการนำเข้าหดตัว สวนทางการส่งออกที่ขยายตัวดี
มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน พ.ค. อยู่ที่ 25,563.3 พลิกกลับมาหดตัว -1.7% หลังจากขยายตัว 4 เดือนติดต่อกัน จากยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง รวมถึงสินค้าทุนที่หดตัวมากถึง -27.7% และ -7.5% ตามลำดับ ขณะที่สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัว 2.4% 2.1% และ 1.5% ตามลำดับ (รูปที่ 2) ดุลการค้าระบบศุลกากรในเดือนนี้กลับมาเกินดุล 656.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากขาดดุล -1,641.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน เม.ย. สำหรับภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2024 ดุลการค้าขาดดุล -5,460.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
SCB EIC ประเมินมูลค่าส่งออกไทยจะขยายตัวต่อเนื่องในเดือน มิ.ย. และช่วงครึ่งปีหลัง
SCB EIC ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกในเดือน มิ.ย. มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับมุมมองของกระทรวงพาณิชย์ในการแถลงการณ์ตัวเลขล่าสุดนี้ โดยมองว่า มูลค่าการส่งออกไทยปีนี้จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ 2.6% (ตัวเลขระบบดุลการชำระเงิน) จากแรงสนับสนุนหลายด้าน ได้แก่
(1) เศรษฐกิจโลกในปี 2024 ที่มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงปีก่อนที่ 2.7% โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับดีขึ้นมากจากอุปสงค์ในประเทศเติบโตดี จีนปรับดีขึ้นเช่นกันจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อินเดียและอาเซียนขยายตัวดี แม้ยูโรโซนและญี่ปุ่นยังเติบโตต่ำ (รูปที่ 4 ซ้าย)
(2) ภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศจะกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในปีนี้ จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตโลกอยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องสามเดือนหลังจากหดตัวมานาน (รูปที่ 4 ขวา) นอกจากนี้ ดัชนี PMI ยอดคำสั่งซื้อใหม่ในภาคการผลิตจากต่างประเทศ (Export order) ปรับเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องสองเดือนหลังจากหดตัวมานานกว่า 2 ปี รวมถึงดัชนี PMI ปริมาณผลผลิตภาคการผลิตในอนาคต (Future output) ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีก่อน สะท้อนการขยายตัวของภาคการผลิตโลกในระยะข้างหน้า (รูปที่ 4 ขวา)
(3) ราคาสินค้าส่งออกที่ดี เช่น ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากภัยแล้งและนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าในบางประเทศ รวมถึงราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงตามความเสี่ยงการโจมตีโรงกลั่นน้ำมันรัสเซียจากยูเครน ความไม่แน่นอนของความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
(4) แนวโน้มการส่งออกสินค้าหลายชนิดที่หดตัวในไตรมาสแรกจะพลิกกลับมาขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปี เช่น ปิโตรเคมี เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ รวมถึงสินค้าหลายชนิดที่ขยายตัวได้ในช่วงไตรมาสแรกและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะยางธรรมชาติ ทูน่า เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (รูปที่ 5)
SCB EIC ประเมินแนวโน้มมูลค่าการส่งออกไทยปี 2025 ขยายตัวใกล้เคียงปีนี้
มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2025 จะได้รับแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงปีนี้ โดยเศรษฐกิจอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตเร่งขึ้น อินเดียยังเติบโตสูงแม้จะชะลอเล็กน้อย ญี่ปุ่นและยูโรโซนฟื้นตัวดีขึ้นแต่ยังไม่สดใสนัก ขณะที่จีนมีแนวโน้มเติบโตต่ำลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง (รูปที่ 4 ซ้าย) นอกจากนี้ ปริมาณการค้าโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในปี 2025 ตามการประเมินขององค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) (รูปที่ 6 ซ้าย)
อย่างไรก็ดี ปริมาณการค้าโลกในปี 2025 ยังต้องเผชิญความเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะ (1) ผลการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะทำให้สหรัฐฯ เป็น Protectionism ใช้เครื่องมือกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตในประเทศ อีกทั้ง หาก Trump ชนะการเลือกตั้งจะมีความเสี่ยงเพิ่มเติมให้สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าทุกประเภทจากทุกประเทศ 10% ตามที่หาเสียงไว้ (2) ผลการเลือกตั้งในสหภาพยุโรป สะท้อนว่าความนิยมพรรคฝ่ายขวาจัดเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่กลุ่มพรรคซ้าย-กลางสูญเสียที่นั่ง จะมีนัยต่อนโยบายสหภาพยุโรปในระยะข้างหน้าที่เป็นชาตินิยมมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการค้าที่อาจพิจารณาประเด็นภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนและสหรัฐฯ และอาจเปลี่ยนมาสนับสนุนและปกป้องตลาดและอุตสาหกรรมสำคัญในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น (รูปที่ 7) (3) สงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ยังไม่สิ้นสุด และ (4) ปัญหา China overcapacity ที่ทำให้จีนส่งออกตลาดโลกเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศที่ยังซบเซาทำให้สินค้านำเข้าเจาะตลาดจีนได้น้อยกว่า ส่งผลให้ดุลการค้าจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และอาจทำให้หลายชาติใช้มาตรการกีดกันการค้ากับจีนมากขึ้น
ที่สำคัญคือ ภาคการส่งออกของไทยมีแนวโน้มจะไม่ได้รับอานิสงส์จากการค้าโลกที่ขยายตัวเร่งขึ้นเท่าที่ควร โดย SCB EIC มีข้อสังเกตว่า การส่งออกไทยในช่วงที่ผ่านมาฟื้นตัวสอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกน้อยลง (รูปที่ 6 ขวา) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคการผลิตสินค้าของไทยยังพึ่งพาอุตสาหกรรมเก่าและปรับตัวผลิตสินค้าตามความต้องการใหม่ ๆ ของโลกได้ไม่เต็มที่นัก SCB EIC จึงประเมินมูลค่าการส่งออกในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัวไม่สูงมากที่ 2.6% ใกล้เคียงปีนี้
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-210624
ผู้เขียนบทวิเคราะห์:
วิชาญ กุลาตี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ณัฐณิชา สุขประวิทย์ นักเศรษฐศาสตร์
ข่าวโดย:
ประชาสัมพันธ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
จิตตินี จอมปรัชญา โทร. 098-9235915 Email : chittinee.jompratchaya@scb.co.th
No comments