Header Ads

SCB EIC: Debt deleveraging แบบใด เศรษฐกิจไทยจะไปต่อได้


KEY SUMMARY

กระบวนการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP จะท้าทายกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

กระบวนการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP (Debt deleveraging) เป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยลดความเปราะบางทางการเงินให้แก่ภาคครัวเรือนจากการบรรเทาปัญหาหนี้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี กระบวนการลดหนี้ของไทยในระยะต่อไปจะเผชิญความท้าทายกว่าในอดีต เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำลงมาก ส่งผลให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้าไปด้วย ภาวะนี้ต่างจากในอดีตที่กระบวนการ Deleveraging เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีต่อเนื่อง การลดหนี้ครัวเรือนไทยในรอบนี้จึงเป็นเรื่องยากมากยิ่งขึ้น

Debt deleveraging เหมือนจะคืบหน้า แต่อาจไม่ช่วยปลดล็อกครัวเรือนจากปัญหาหนี้

แม้ตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยในภาพรวมจะลดลงต่อเนื่องในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2024 แต่ภาพที่ดูเหมือนจะคืบหน้านี้ เกิดขึ้นเพราะตัวเลขหนี้ครัวเรือนขยายตัวต่ำเป็นประวัติการณ์เป็นหลัก ตามความเสี่ยงของลูกหนี้รายย่อยที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ตัวเลข GDP ขยายตัวได้ต่ำ หากสถานการณ์ตัวเลขหนี้ครัวเรือนและตัวเลข GDP ไทยขยายตัวต่ำทั้งคู่ยังคงดำเนินต่อไป อาจเห็นผลลบต่อการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนในอนาคตตามมา ยิ่งจะทำให้การใช้คืนหนี้เดิมทำได้ยากขึ้น

ดังนั้น การที่เห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ลดลงต่อเนื่องมา 2 ไตรมาสติดกัน อาจไม่ใช่เครื่องชี้ที่ดีพอจะสรุปได้ว่า ครัวเรือนไทยเริ่มแก้ปัญหาหนี้ได้แล้ว แต่กระบวนการลดหนี้ที่จะเป็นประโยชน์แท้จริงต่อภาคครัวเรือนโดยรวม จะต้องช่วยลดภาระหนี้ในระดับแต่ละครัวเรือนได้ ผ่าน 2 แนวทาง คือ กระบวนการแก้หนี้เดิม จะต้องออกแบบให้ครอบคลุมและตอบโจทย์ครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้ต่างกัน และกลไกนโยบายเศรษฐกิจมหภาค จะต้องช่วยประคองเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวได้มากพอจะนำไปชำระหนี้เพื่อหลุดจากปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน

แนวทางปลดล็อกครัวเรือนจากปัญหาหนี้ และเอื้อให้เศรษฐกิจไทยยังไปต่อ

(1) กระบวนการแก้ไขหนี้เดิมต้องครอบคลุมและตอบโจทย์ครัวเรือนที่มีปัญหาต่างกัน

การสนับสนุนให้ครัวเรือนจัดการหนี้เดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีกระบวนการแก้หนี้เดิมที่ครอบคลุมครัวเรือนที่กำลังมีปัญหาหนี้ให้ได้มากที่สุด ตอบโจทย์ปัญหาหนี้และความต้องการแก้หนี้ที่แตกต่างกันได้

(2) นโยบายเศรษฐกิจมหภาคต้องช่วยสนับสนุนให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวในอนาคต

การแก้หนี้เดิมของครัวเรือนให้ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งต้องอาศัยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคช่วยประคองเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อสนับสนุนให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวเพียงพอกับรายจ่าย ด้านนโยบายการคลังไทยเริ่มมีพื้นที่การคลังจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเจาะจงครัวเรือนเปราะบาง ด้านนโยบายการเงินต้องเอื้อให้เกิดการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือน โดยสามารถผ่อนคลายเพิ่มได้ หากจำเป็นต้องลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวต่ำลงอีก จนกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนตามมา


บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/debt-deleveraging-211124

ผู้เขียนบทวิเคราะห์:

นนท์ พฤกษ์ศิริ (นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส)

ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

ก้องภพ วงศ์แก้ว (ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร)

ข่าวโดย:

ประชาสัมพันธ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
จิตตินี จอมปรัชญา โทร. 098-9235915 Email: chittinee.jompratchaya@scb.co.th
กุณฑลี โพธิ์แก้ว โทร. 086-1308560 Email: koontalee.pokaew@scb.co.th

No comments

Powered by Blogger.