Header Ads

SCB EIC: Sustainable living … ก้าวต่อไปของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รับแนวคิด ESG


อสังหาริมทรัพย์ เป็นภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนในการปล่อยคาร์บอน (Carbon emission) สูงถึง 40% ของการปล่อยคาร์บอนโดยรวม โดยเฉพาะในช่วงเข้าอยู่อาศัย (Living phase) นำมาสู่การนำแนวคิด ESG มาพัฒนา Sustainable living เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสีเขียวจะทำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ยังต้องสร้างความตระหนักและความเข้าใจถึงความจำเป็นของที่อยู่อาศัยสีเขียวต่อกลุ่มผู้ซื้อในวงกว้าง ภายใต้ความท้าทายด้านต้นทุน และมาตรฐานรับรองในระดับสากล

ปัจจุบันผู้ประกอบการ ทั้งต่างประเทศ และไทยมีการนำแนวคิด ESG มาเป็นกรอบในการดำเนินธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ตั้งแต่กระบวนการก่อสร้าง จนถึงการอยู่อาศัย ดังนี้
  • ในช่วงก่อนเข้าอยู่อาศัย: ผู้ประกอบการคำนึงถึงการลดผลกระทบตั้งแต่จุดเริ่มต้น ผ่านการออกแบบและการก่อสร้างที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งการลดการเกิดของเสียและเริ่มใช้การก่อสร้างสำเร็จรูป ซึ่งสะท้อนถึงความแพร่หลายของการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการของเสีย และการใช้เทคโนโลยีทางการก่อสร้าง
  • ในช่วงเข้าอยู่อาศัย: ผู้ประกอบการเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานและน้ำ รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการอยู่อาศัย สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และประหยัดค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัย ตลอดจนการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้อยู่อาศัย

นอกจากนี้ สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Association of Home Builders: NAHB) ระบุว่า แม้ว่าการพัฒนาโครงการบ้านสีเขียวจะมีต้นทุนสูงกว่าโครงการทั่วไป แต่หากพัฒนาโครงการที่เน้นบ้านสีเขียวมากขึ้น จะส่งผลให้มีต้นทุนส่วนเพิ่มจากการพัฒนาโครงการบ้านสีเขียวไม่สูงมากนักจากความเชี่ยวชาญที่เพิ่มขึ้น และการเกิด Economies of Scale ในการพัฒนาโครงการบ้านสีเขียว

จากผลสำรวจ Residential real estate survey 2567 โดย SCB EIC เกี่ยวกับมุมมองของผู้บริโภคต่อความสนใจและการยินดีจ่ายเงินเพิ่มในอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัย พบว่า กลุ่ม Gen Z ให้ความสนใจและยินดีจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการที่ให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ สะท้อนความตื่นตัว และให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่จะมีบทบาทเป็นกำลังซื้อในตลาดที่อยู่อาศัยมากขึ้นในระยะต่อไป

SCB EIC มองว่า ผู้ประกอบการควรมุ่งดำเนินการด้านความยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบจากภาคธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินการภายในองค์กร และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกองค์กร ทั้งช่วงก่อนและระหว่างเข้าอยู่อาศัย แม้ว่าผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสีเขียวยังเผชิญความท้าทายจากปัจจัยทางด้านต้นทุน และมาตรฐานรับรองในระดับสากล รวมถึงยังต้องสร้างความตระหนักและความเข้าใจถึงความจำเป็นของที่อยู่อาศัยสีเขียวต่อกลุ่มผู้ซื้อในวงกว้าง อย่างไรก็ดี ในระยะยาวการลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยสีเขียวจะทำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม

โดยอาจดำเนินงานตามแนวทาง ดังนี้
  • การลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยสีเขียว: ผู้ประกอบการควรลงทุนปรับใช้เทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีก่อสร้างสำเร็จรูป (Precast/ Prefabrication/Modular), Building Information Modelling (BIM), Smart Construction Equipment ในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสีเขียว ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการลดการใช้ทรัพยากร และระยะเวลาก่อสร้าง รวมถึงใช้วัสดุก่อสร้าง และเครื่องจักรก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์ในการลดมลภาวะ
  • การพัฒนาโครงการตามมาตรฐานรับรองที่อยู่อาศัยสีเขียว: ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ควรผลักดันให้มีการนำมาตรฐานรับรองที่อยู่อาศัยสีเขียวมาปรับใช้ โดยอาจเริ่มจากมาตรฐานรับรองที่อยู่อาศัยแนวราบในไทยอย่าง TREES for Home ก่อนยกระดับการปรับใช้มาตรฐานสากลอย่าง LEED for Homes เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และขยายฐานลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในที่อยู่อาศัยสีเขียวมากขึ้น
  • การขยายตลาดที่อยู่อาศัยสีเขียว ทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทาน: ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาสนใจที่อยู่อาศัยสีเขียวเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การเลือกที่อยู่อาศัยแบบนี้กลายเป็นเรื่องปกติและใกล้ตัวมากขึ้น รวมถึงภาครัฐอาจมีมาตรการจูงใจทั้งผู้ซื้อและผู้ประกอบการ เช่น การนำเงินลงทุน ค่างวดผ่อนชำระ หรือดอกเบี้ยจากการซื้อหรือลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสีเขียวไปลดหย่อนภาษีได้ การให้สินเชื่อในวงเงินและอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อซื้อหรือพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสีเขียว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย รวมถึงจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาพัฒนาที่อยู่อาศัยสีเขียวมากขึ้น

อ่านต่อรายงานฉบับเต็มได้ที่... https://www.scbeic.com/th/detail/product/sustainable-living-221024

ผู้เขียนบทวิเคราะห์:

นางสาวพรนภัส จิระเดชะ
Economist trainee
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
EIC Online : www.scbeic.com
Line : @scbeic

ข่าวโดย:

ประชาสัมพันธ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
จิตตินี จอมปรัชญา โทร. 098-9235915 Email: chittinee.jompratchaya@scb.co.th
กุณฑลี โพธิ์แก้ว โทร. 086-1308560 Email: koontalee.pokaew@scb.co.th

No comments

Powered by Blogger.