Header Ads

ไทยเบฟขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนสู่ PASSION 2030


บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“ไทยเบฟ” หรือ “กลุ่ม”) เผยแผนงาน PASSION 2030 ซึ่งต่อยอดการดำเนินงานของกลุ่มในการเสริมความแข็งแกร่งสถานะผู้นำที่มั่นคงและยั่งยืนของอาเซียนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร พร้อมทั้งวางเป้าหมายและแผนการเติบโตในช่วงห้าปีข้างหน้าเพื่อ ‘สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน’ (Enabling Sustainable Growth)

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า “ผมมีความยินดีที่จะแถลงว่าเรามีความคืบหน้าที่ดีในการสรรสร้างความสามารถ เสริมแกร่งตำแหน่งในตลาดและตราสินค้าของเรา รวมทั้งนำศักยภาพของไทยเบฟที่มีอยู่มาก่อให้เกิดมูลค่าสูงสุดในทุกธุรกิจของเรา แม้ที่ผ่านมาจะมีความท้าทายด้านการดำเนินงานและต้นทุน อันเป็นผลมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ แต่เราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคมาได้ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง และการบริหารอัตรากำไรและความเสี่ยงอย่างมีวินัย โดยความทุ่มเทร่วมมือร่วมใจกันของกลุ่มไทยเบฟทำให้เรามีผลการดำเนินงานดีในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เช่นเดียวกับในช่วงห้าปีที่ผ่านมา และในวันนี้เรากำลังมองไปข้างหน้า โดยนำจุดแข็งทางการแข่งขันและขีดความสามารถหลักของเรามาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตและสร้างมูลค่าให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม”


ด้วยความมุ่งมั่นที่จะ “สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” ตามพันธกิจขององค์กร ไทยเบฟต่อยอดความสำเร็จจากแผน PASSION 2025 ด้วยการเดินหน้าขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนสู่ PASSION 2030 ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานของกลุ่มเพื่อมุ่งสู่การสู่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงห้าปีข้างหน้า

การกระจายสินค้าด้วยศักยภาพที่แข็งแกร่ง (Reach Competitively)

กลุ่มมุ่งมั่นพัฒนาการส่งมอบสินค้าและบริการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในช่องทางต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง และขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทุกช่องทาง รวมทั้งเจาะตลาดได้อย่างครบวงจรไร้รอยต่อ ด้วยศักยภาพอันแข็งแกร่งที่พร้อมแข่งขันทั้งในด้านต้นทุนและการให้บริการที่มีคุณภาพ

ดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต (Digital for Growth)

กลุ่มมีความตั้งใจที่จะขยายการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้ รวมถึงประยุกต์ใช้ระบบขายอัตโนมัติ (sales automation) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต การดำเนินงาน รวมถึงการกระจายสินค้า นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า อีกทั้งเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต

ในเดือนกันยายน 2567 ไทยเบฟได้รับเสียงอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในการทำธุรกรรมแลกหุ้นระหว่างบริษัท อินเตอร์เบฟ อินเวสท์เม้นท์ ลิมิเต็ด (“IBIL”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ไทยเบฟถือหุ้นโดยอ้อมทั้งหมด และบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ลิมิเต็ด (“TCCAL”) โดย IBIL จะทำการโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด (“FPL”) ทั้งหมดร้อยละ 28.78 ให้แก่ TCCAL และ TCCAL จะโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ, ลิมิเต็ด (“F&N”) ร้อยละ 41.30 ให้แก่ IBIL

ธุรกรรมดังกล่าวส่งผลให้ IBIL มีสัดส่วนการถือหุ้นใน F&N เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 69.61 โดยกลุ่มจะมุ่งเน้นการรวมธุรกิจและการดำเนินงานของ F&N เข้ากับไทยเบฟ ซึ่งจะเสริมแกร่งศักยภาพในการแข่งขันของกลุ่มในธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์นม พร้อมทั้งสร้างประโยชน์จากการผนึกกำลังร่วมกัน และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และขยายตลาดของกลุ่มให้หลากหลายยิ่งขึ้น

ประเด็นสำคัญของกลุ่มธุรกิจ


ธุรกิจสุรา

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ธุรกิจสุรามีรายได้จากการขาย 92,788 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.9 จากปีที่แล้ว และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลงร้อยละ 1.3 สาเหตุหลักมาจากปริมาณขายรวมที่ลดลงร้อยละ 2.7 เนื่องจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย อย่างไรก็ดี การชะลอตัวในประเทศไทยถูกชดเชยได้บางส่วนจากทั้งรายได้จากการขายและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA)

นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการต่างประเทศ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา และผู้บริหารสูงสุด การเงินและบัญชีกลุ่ม กล่าวว่า “เราเดินหน้าเสริมสร้างตราสินค้าหลักของเราในไทยอย่างรวงข้าว หงส์ทอง แสงโสม และเบลนด์ 285 ให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ ผ่านการดำเนินกิจกรรมของตราสินค้าต่าง ๆ และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อเสริมสถานะความเป็นผู้นำของไทยเบฟให้มั่นคงยิ่งขึ้นทั้งในตลาดสุราขาวและสุราสี”

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของไทยเบฟคือการทำให้สุราพรีเมียมของไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ด้วยการมุ่งเน้นนำเสนอสุราที่มีคุณภาพระดับสากลผ่านตราสินค้าหลักอย่าง แสงโสม แม่โขง พระยา รัม และรวงข้าว สยาม แซฟไฟร์ และเพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นดังกล่าว ไทยเบฟได้ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์สุราระดับพรีเมียมผ่านการเปิดตัว PRAKAAN (ปราการ) ผลิตภัณฑ์ซิงเกิลมอลต์วิสกี้ระดับพรีเมียมแบรนด์แรกของประเทศไทยในเดือนกันยายน 2567 ซึ่งจะเข้ามาเสริมทัพกลุ่มตราสินค้าหลักในการขับเคลื่อนสุราระดับพรีเมียมของไทยสู่เวทีระดับโลก

“เราภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้บุกเบิกในการทำให้ประเทศไทยไปอยู่บนแผนที่ของตลาดวิสกี้โลก โดย PRAKAAN (ปราการ) มาพร้อมกับแนวคิด ‘Irresistible Quest, Unforgettable Taste’ และมีแผนเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบเครื่องดื่มวิสกี้ประเภท New World ในประเทศไทย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น” นายประภากรกล่าว

สำหรับตลาดต่างประเทศ ไทยเบฟเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมที่หลากหลาย ทั้งวิสกี้จากสกอตแลนด์ คอนญักจากฝรั่งเศส วิสกี้จากนิวซีแลนด์ ซิงเกิล มอลต์ วิสกี้และรัมระดับพรีเมียมจากไทย นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายกำลังการผลิตในนิวซีแลนด์ ส่วนในประเทศเมียนมา แกรนด์ รอยัล วิสกี้ ยังคงมีผลการดำเนินงานแข็งแกร่งและยังครองตำแหน่งวิสกี้อันดับหนึ่งในประเทศไว้ได้แม้จะมีความท้าทายในตลาดอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจสุรายังยึดมั่นดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน โดยโครงการที่สำคัญ ได้แก่ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผ่านการติดตั้งแผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงงานหลายแห่งทั้งในไทยและต่างประเทศ การนำผลพลอยได้จากกระบวนการกลั่นแอลกอฮอล์ไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพที่โรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และการล้างขวดแก้วใหม่โดยใช้เครื่องล้างแบบหมุน ซึ่งช่วยให้กลุ่มสามารถประหยัดน้ำในการทำความสะอาดขวดได้

ธุรกิจเบียร์

ในช่วง 9 เดือน แรกของปี 2567 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและ ค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ของธุรกิจเบียร์ เติบโตอย่างน่าพอใจที่ร้อยละ 10.2 ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เป็น 93,793 ล้านบาท มันเป็นผลจากการลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง และการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ปริมาณขายรวมจะลดลงร้อยละ 2.9 ก็ตาม

นายไมเคิล ไชน์ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า “ธุรกิจเบียร์ของเราในประเทศไทยมีปริมาณขายที่เติบโตขึ้นอย่างน่าพอใจ โดยเฉพาะในช่วงกลางปี 2567 จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น ในส่วนของธุรกิจในเวียดนามยังคงเผชิญความท้าทายจากการบริโภคที่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจมหภาคและการบังคับใช้กฤษฎีกาฉบับที่ 100 อย่างเข้มงวด ซึ่งกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้กระทำผิดข้อหาเมาแล้วขับ อย่างไรก็ดี การเสริมแกร่งของธุรกิจในเมียนมาจากการรวมธุรกิจ F&N เข้ามาเป็นบริษัทย่อย รวมถึงการขยายสู่ตลาดกัมพูชา นับเป็นโอกาสดีที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจเบียร์ของเรา”

กัมพูชาเป็นตลาดเบียร์ที่เติบโตเร็วที่สุดและใหญ่เป็นอันดับสี่ของอาเซียนเมื่อวัดจากปริมาณขาย โดยมีปริมาณการบริโภครวมต่อปีประมาณ 10 ล้านเฮกโตลิตร ดังนั้น เราจึงเล็งเห็นโอสาสและได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตเบียร์ในกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2569 และมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50 ล้านลิตรเมื่อเปิดดำเนินการ

นายไมเคิลยังกล่าวว่า “เรายังคงเห็นโอกาสในการเติบโตและมุ่งมั่นดำเนินกลยุทธ์ในตลาดหลักของเรา แต่ในขณะเดียวกันก็ยังระมัดระวังถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยคาดว่าธุรกิจเบียร์ของเราจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ รวมทั้งมีผลการดำเนินงานที่ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืนในอนาคต”

ธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย

นายทรงวิทย์ ศรีธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย กล่าวว่า “เรายังคงมุ่งเน้นการผลักดันตราสินค้าหลักของเราอย่างเบียร์ช้างสู่การเป็นอันดับหนึ่งในตลาดประเทศไทย โดยกำหนดกลยุทธ์สำคัญ 6 ประการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าของเรา”

กลยุทธ์หลัก 6 ประการ ประกอบด้วย
  • เสริมแกร่งความเป็นผู้นำ (Strengthen Leadership) ด้วยการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่บนชั้นวางสินค้าในร้านค้าอย่างยั่งยืน เพิ่มการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภค และสร้างความตื่นเต้นผ่านแพลตฟอร์มและช่องทางที่หลากหลาย
  • ยกระดับกลุ่มผลิตภัณฑ์ (Portfolio Premiumization) ผ่านการพัฒนาตราสินค้าแมสพรีเมียมอย่างต่อเนื่อง ทั้งช้างโคลด์บรูว์ เฟเดอร์บรอย และช้าง อันพาสเจอไรซ์ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของแผนการขาย พัฒนาแผนการตลาด และการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ
  • พัฒนาความเป็นเลิศด้านการดำเนินงาน (Operational Excellence) จากการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีขึ้นมีเป้าหมายเพื่อที่จะให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกในกระบวนการจัดซื้อ การผลิต และห่วงโซ่คุณค่า
  • ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Technological Transformation) โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในทุกด้านของการดำเนินงานและกระบวนการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วและดียิ่งขึ้น
  • การลงทุนด้านทรัพยากรบุคคล (People Investment) โดยมุ่งเน้นสามสิ่งสำคัญ ได้แก่ การสร้างโอกาสให้แก่พนักงานมากยิ่งขึ้น การพัฒนาทักษะใหม่ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน
  • ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability) โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งได้จากพลังงานแสงอาทิตย์และไอน้ำเชื้อเพลิงชีวมวล อีกทั้งยังยึดมั่นในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

● ธุรกิจเบียร์ ประเทศเวียดนาม

นายเลสเตอร์ ตัน เต็ก ชวน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซาเบโก้ กล่าวว่า “Bia Saigon ยังคงเป็นตราสินค้าเบียร์อันดับหนึ่งในเวียดนาม โดยเรายังคงเดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งของตำแหน่งผู้นำผ่านการขยายเครือข่ายการกระจายสินค้า โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเมืองสำคัญต่าง ๆ ผ่านการทำงานร่วมกันอย่างอย่างใกล้ชิดภายในของทีมการค้า เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

เมื่อมองถึงการฟื้นตัวของตลาดโดยรวมในอนาคต เราได้ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค โดยเรามั่นใจว่าบริษัทมีความพร้อมที่จะคว้าโอกาสในการเติบโตใหม่ ๆ ในตลาด

เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำและผลักดันการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เรามุ่งมั่นเสริมสร้างความแข็งแกร่งใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ ความเป็นเลิศด้านการค้า (Commercial Excellence) ประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Efficiency) รวมถึงการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล (ESG)”
  • ความเป็นเลิศด้านการค้า (Commercial Excellence): ซาเบโก้ยังคงดำเนินกิจกรรมทางการตลาดและส่งเสริมการขายของทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ พร้อมทั้งมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถของเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่ครอบคลุมของบริษัทในการสร้างช่องทางจัดจำหน่ายใหม่ ๆ โดยกิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคให้แข็งแกร่งขึ้น แต่ยังส่งเสริมความสัมพันธ์กับตัวแทนจำหน่ายในท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่คุณค่าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีกด้วย อันนำไปสู่การเพิ่มโอกาสทางการขายและช่วยให้ซาเบโก้สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในเดือนสิงหาคม 2567 ซาเบโก้เปิดตัวเบียร์ 333 Pilsner ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของกลุ่มตราสินค้าเบียร์ 333 โดย 333 Pilsner มีความโดดเด่นจากเบียร์ชนิดอื่นด้วยรสชาติที่เบาและนุ่มนวล ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มผู้บริโภคเบียร์รุ่นใหม่ในเวียดนาม
  • ประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Efficiency): ซาเบโก้ได้ปรับปรุงระบบคลังสินค้าและการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายคลังสินค้าและลดต้นทุนการดำเนินงาน ซึ่งส่งผลให้สามารถจัดหาเบียร์ในปริมาณที่เพียงพอสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังยกระดับระบบการจัดการดำเนินงานเพื่อสร้างความเสถียรภาพ เพิ่มผลผลิต การตรวจสอบ และความถูกต้องของการดำเนินงาน
  • สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG): ซาเบโก้นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินงานมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะเดียวกันก็ยังตอบแทนชุมชนผ่านหลากหลายโครงการเพื่อสังคม พร้อมทั้งปรับปรุงโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการและกระบวนการทำงานภายในกลุ่มเพื่อให้บริหารจัดการได้ดีขึ้น

ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของกลุ่มมีรายได้จากการขาย 15,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 โดยมีปัจจัยหลักมาจากกิจกรรมส่งเสริมตราสินค้าที่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับการขยายการกระจายสินค้าให้กว้างขวาง โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) 1,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นและต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง แม้จะมีการลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาดเพิ่มขึ้นก็ตาม

นายโฆษิต สุขสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการประเทศไทย ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวว่า “เรามีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ด้วยการนำเสนอสินค้าเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่หลากหลาย ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา

“เราได้ดำเนินการตามกลยุทธ์ที่สำคัญเพื่อรวมธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของทั้งกลุ่มให้เป็นหนึ่งเดียว ผ่านการนำหุ้นของโออิชิออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำหุ้นของเสริมสุขออกจากตลาด รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน F&N ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ผ่านสัญญาการแลกเปลี่ยนหุ้นกับ TCCAL เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น เรามั่นใจว่าไทยเบฟจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงจากขนาดการผลิตที่ใหญ่ขึ้น (Economies of Scale) อีกทั้งยังทำให้การดำเนินงานด้านห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ยังคงดำเนินการภายใต้แนวคิด “เติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งสู่อนาคตยุคดิจิทัล” โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์หลัก 3 ประการ ได้แก่ ตราสินค้าและการเข้าถึง ความเป็นเลิศด้านการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน และความยั่งยืน
  • ตราสินค้าและการเข้าถึง (Brand & Reach): กลุ่มมุ่งเสริมความแข็งแกร่งของตราสินค้าเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ โดยนำเสนอตราสินค้าเครื่องดื่มที่หลากหลายเพื่อรองรับความต้องการและความชื่นชอบของผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ ที่กำลังเปลี่ยนไป กลุ่มเสริมแกร่งตราสินค้าชาเขียวโออิชิ ด้วยการนำเสนอความเป็นญี่ปุ่นของตราสินค้า และดำเนินกลยุทธ์เพื่อครองใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านแคมเปญร่วมกับโปเกม่อน อีกทั้งยังเดินหน้าตอบโจทย์กระแสใส่ใจสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดตัวโออิชิ กรีนที ชาเขียวกลิ่นข้าวโพดฮอกไกโด สูตรไม่มีน้ำตาล ซึ่งผสานรสชาติชาเขียวที่สดชื่นเข้ากับกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ของข้าวโพดญี่ปุ่น ในส่วนของคริสตัลได้ตอกย้ำสถานะผู้นำอันดับหนึ่งของตลาดน้ำดื่มในประเทศไทย ด้วยการเดินหน้าสร้างความเชื่อมโยงกับผู้บริโภคอยู่เสมอ โดยชูจุดยืนในฐานะน้ำดื่มคุณภาพสูง ที่นอกจากจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพกายแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตใจและอารมณ์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ คริสตัลยังได้เข้าร่วมโครงการเพื่อสังคมในประเทศหลายโครงการ รวมถึงลงพื้นที่จัดกิจกรรมตามโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในกระบวนการผลิตทั้ง 19 ขั้นตอนของคริสตัล ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงความเป็นน้ำดื่มคุณภาพดีที่สุดสำหรับคนไทย สำหรับเครื่องดื่มอัดลมเอส ได้ยกระดับตราสินค้าผ่านการพลิกโฉมครั้งใหญ่ภายใต้แคมเปญ “เอส เกิดมาซ่า... กล้าเป็นตัวเอง” เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภค Gen Z ด้วยแนวคิดที่ว่าชาว Gen Z ทุกคนเกิดมาซ่าในแบบของตัวเองและเอสพร้อมสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้ทำในสิ่งที่ชอบ โดยกลุ่มจะเร่งการเติบโตของเอสในตลาดผ่านการใช้แคมเปญต่าง ๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภค
  • ความเป็นเลิศด้านการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน (Production & Supply Chain Excellence): กลุ่มขับเคลื่อนความเป็นเลิศด้านในกระบวนการผลิตและผลักดันประสิทธิภาพของเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง โดยได้ก่อใน ซึ่งช่วยให้กลุ่มสามารถลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนนอกจากนี้ กลุ่มยังได้ดำเนินการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของโรงงานผลิตด้วยการนำเทคโนโลยีการจัดการด้านดิจิทัลมาใช้ ส่งผลให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต อีกทั้งยังนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาปรับใช้ในกระบวนการผลิตและกระจายสินค้า เพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตและเครือข่ายการขนส่งที่ครอบคลุมของไทยเบฟให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังเพิ่มความคล่องตัวของห่วงโซ่อุปทานด้วยการปรับขนาดทีมขายให้เหมาะสม รวมถึงปรับขนาดยานพาหนะขนส่งให้เหมาะกับแต่ละเส้นทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้วย
  • ความยั่งยืน (Sustainability): กลุ่มมุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบทั้งต่อธุรกิจ ต่อสังคม และต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการใช้พลังงานสะอาดซึ่งได้จากระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานแต่ละแห่ง อีกทั้งยังพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับชาเขียวโออิชิ ด้วยการสร้างสรรค์ฝาขวด PET แบบใหม่ที่ยึดติดกับปากขวด เพื่อให้สามารถเก็บทั้งขวดและฝาขวดไปรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังเริ่มใช้ขวดที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล (rPET) 100% ในบางผลิตภัณฑ์ของตราสินค้าเอสโคล่าอีกด้วย

● ธุรกิจอาหาร

ธุรกิจอาหารมีรายได้จากการขาย 15,022 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เทียบจากปีก่อน อันเป็นผลจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลงร้อยละ 0.6 เป็น 1,438 ล้านบาทเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

นายโสภณ ราชรักษา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหารประเทศไทย และผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจโลจิสติกส์ กล่าวว่า “เราสามารถเพิ่มการมองเห็นและการเข้าถึงแบรนด์อาหารของเรา และเพิ่มจำนวนคนนั่งทานในร้านผ่านการขยายสาขาใหม่ ด้วยรูปแบบที่ต่างกันไป ในทำเลยุทธศาสตร์ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้และการผนึกกำลังร่วมกับกลุ่มไทยเบฟ ทำให้เราสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน รวมถึงการบริหารห่วงโซ่อุปทานได้ดียิ่งขึ้น และช่วยบรรเทาผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงได้บางส่วน

ผลการดำเนินงานของธุรกิจอาหารที่ดีขึ้นเกิดจาก 4 เสาหลักในการขับเคลื่อนการเติบโต ได้แก่การ
  • ขยายสาขาใหม่เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแบรนด์ และพัฒนารูปแบบร้านใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับทำเลและกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย
  • การกระตุ้นยอดขายในสาขาเดิมผ่านการสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายของแบรนด์ต่าง ๆ โดยโออิชิได้ฉลองครบรอบการก่อตั้ง 25 ปี ด้วยการเปิดตัวแคมเปญร่วมกับ 10 เชฟชื่อดังของประเทศไทย เพื่อนำเสนอประสบการณ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่ผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นตลอดทั้งปี 2567
  • การเสริมแกร่งพื้นฐานธุรกิจด้วยการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะของพนักงาน การเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานด้วยการจัดสรรจำนวนพนักงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามระบบวิเคราะห์การจัดการแรงงาน (labor matrix system) การลงทุนในระบบดิจิทัลต่าง ๆ เช่น ตู้จำหน่ายอาหารดิจิทัล และเครื่องมือในการสร้างรายงานสรุปภาพรวมของการดำเนินงาน (operational dashboards) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานและประสบการณ์การสั่งอาหารของลูกค้า ตลอดจนการจัดการห่วงโซ่อุปทานและการผนึกกำลังภายในกลุ่มเพื่อควบคุมต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ
  • การพัฒนาด้านความยั่งยืน เช่น ส่งเสริมไม่ให้เกิดอาหารเหลือทิ้งผ่านโครงการต่าง ๆ สนับสนุนชุมชนโดยจัดหาพนักงานที่มีทักษะในท้องถิ่น สร้างอาชีพ และร่วมทำกิจกรรมการกุศล เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคมและส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืน

การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ขณะที่โลกเผชิญความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์และสภาพภูมิอากาศ ไทยเบฟยังคงยึดมั่นในแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

นางต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารในอาเซียน เราตระหนักดีว่าหน้าที่ของผู้นำอุตสาหกรรมนั้นไม่ได้มีเพียงการสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจและความเป็นเลิศในการดำเนินงานเท่านั้น แต่ยังต้องปกป้องสิ่งแวดล้อม ป้องกันผลกระทบทางสังคม และส่งเสริมธรรมาภิบาลด้วย”

กลุ่มไทยเบฟได้น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะทรง “สืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน” และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาผสานเข้ากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ทั้ง 17 ประการ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาด้านความยั่งยืนของกลุ่ม

เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน” ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทั้งทางตรง (Scope 1) และทางอ้อม (Scope 2) ภายในปี 2583 โดยไทยเบฟได้พัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง และได้ดำเนินโครงการในประเทศไทยหลากหลายโครงการ ซึ่งในปี 2566 ไทยเบฟสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนแล้วดังนี้
  • บรรลุระยะที่ 1-3 ของโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ครอบคลุมโรงงาน 40 แห่งของกลุ่มในประเทศไทย เมียนมา และเวียดนาม รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 42.48 เมกะวัตต์
  • ขยายโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ระยะที่ 4 เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจในประเทศไทย โดยจะติดตั้งบริเวณหลังคาอาคารและแผงแบบลอยน้ำที่โรงงานเบียร์และโรงงานเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
  • สร้างโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพที่โรงงานสุราในจังหวัดราชบุรี เพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ 7 แห่ง ซึ่งจะช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำได้ถึงปีละ 1.5 ล้านลิตร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงปีละ 20,205 เมตริกตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในองค์กรแทนแหล่งพลังงานเดิมได้ร้อยละ 37 (ไม่รวมเวียดนาม)
  • ลดการดึงน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้ร้อยละ 13.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วในพื้นที่ที่มีการใช้น้ำมาก
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ Scope 2 ลงได้ร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2562 (ไม่รวมเวียดนาม)
  • นำขยะอาหารและของเสียอื่น ๆ จำนวนร้อยละ 61.6 กลับมาใช้ใหม่เพื่อวัตถุประสงค์อื่น (ไม่รวมเวียดนาม)
  • เก็บกลับบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วได้ร้อยละ 97 ของจำนวนสินค้าที่จำหน่ายในประเทศไทย เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล
  • มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทยได้รับเครื่องหมาย “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 73

ในปี 2566 ไทยเบฟได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีคะแนนสูงสุด “Top 1% S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) Score” ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน โดยได้คะแนนสูงสุดในหมวดธรรมาภิบาล เศรษฐกิจ และสังคม และได้คะแนนเป็นอันดับสองในหมวดสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดัชนีระดับโลกอย่างกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (“DJSI”) โดยเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีโลก (DJSI World Index) เป็นปีที่ 7 และกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets Index) เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน

นอกจากนี้ ไทยเบฟยังได้เข้าร่วมโครงการเปิดเผยข้อมูลตามกรอบการประเมินของ Carbon Disclosure Project (CDP) ซึ่งเป็นสถาบันประเมินความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับมากที่สุดทั่วโลก ซึ่งไทยเบฟได้รับคะแนนระดับ A- ในด้านการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการบริหารจัดการน้ำ (Water Security) จากการประเมินในปี 2566

กลุ่มมุ่งมั่นพัฒนาการดำเนินงานให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว สอดคล้องกับพันธกิจของไทยเบฟที่จะ “สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ไทยเบฟประสบความสำเร็จ และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา

กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล

นายโสภณ ราชรักษา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหารประเทศไทย และผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจโลจิสติกส์ กล่าวว่า “ไทยเบฟมุ่งมั่นเป็นหนึ่งในองค์กรที่ดีที่สุดสำหรับพนักงาน และก้าวสู่การเป็นผู้นำที่มั่นคงและยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าความพึงพอใจในสายอาชีพและโอกาสก้าวหน้าของพนักงานจะเป็นแรงบันดาลใจให้พนักงานร่วมงานกับองค์กรได้ในระยะยาว และตระหนักดีว่าองค์กรที่ประสบความสำเร็จจะต้องอาศัยความร่วมมือกับพนักงาน ดังนั้น เราจึงเปิดพื้นที่ให้พนักงานพัฒนาตนเองได้อย่างเท่าเทียมและไร้ขีดจำกัด เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์การเรียนรู้และการเติบโต พร้อมทั้งมอบโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพ ตลอดจนปิดช่องว่างด้านทักษะต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นควบคู่ไปกับองค์กร”

เราทำงานร่วมกับแต่ละกลุ่มธุรกิจอย่างใกล้ชิดเพื่อสนับสนุนกลยุทธ์และการดำเนินงาน และเพื่อรองรับการเติบโตในธุรกิจและตลาด/ประเทศต่าง ๆ เราจึงให้ความสำคัญกับการสรรหาและพัฒนาทักษะบุคลากร รวมถึงการสนับสนุนโอกาสให้บุคลากรสามารถทำงานข้ามประเทศและกลุ่มธุรกิจ โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนสำหรับไทยเบฟในอนาคต

ความมุ่งมั่นของไทยเบฟในการพัฒนาความเป็นเลิศและการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ส่งผลให้ในปี 2567 ไทยเบฟได้รับรางวัล HR Excellence ระดับ Gold ใน 2 ด้าน ได้แก่ รางวัล Excellence in Learning and Development และรางวัล Excellence in Workforce Mobility อีกทั้งยังได้รับรางวัลระดับ Silver 1 ด้าน ได้แก่ รางวัล Excellence in Leadership Development

นอกจากนี้ ไทยเบฟยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับสิทธิขั้นพื้นฐาน ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย โดยได้จัดทำแนวทางที่ครอบคลุมและวางระบบบริหารความปลอดภัย เพื่อให้มั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายและข้อกำหนดระหว่างประเทศด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงพนักงานและพันธมิตรทางธุรกิจของเรา

No comments

Powered by Blogger.