Header Ads

ไทยพาณิชย์เปิดไอเดีย ‘ขนส่งสีเขียว’ โอกาสทองเอสเอ็มอีโตยั่งยืนสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ


เมื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาคขนส่งกับการมาถึงของยานยนต์ไฟฟ้า ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งมุ่งมั่นในการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้เติบโตไปข้างหน้าด้วยกลไกที่มากกว่า "สินเชื่อ" จึงระดมเครือข่ายพันธมิตรด้านยานยนต์ไฟฟ้า ร่วมให้คำแนะนำและองค์ความรู้ในการวางกลยุทธ์เอสเอ็มอีสามารถเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ผ่านงานเสวนา "ขนส่งสีเขียว เปลี่ยนธุรกิจ SME ให้ยั่งยืน"

อีไอซี แนะ 3 แนวทาง เอสเอ็มอีคว้าโอกาสยานยนต์ไฟฟ้า

นางสาวฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ชี้ว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกันกับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล สะท้อนจากยอดจดทะเบียนตั้งแต่ปี 2561 – พฤษภาคม 2567 รถบัสไฟฟ้ามีจำนวน 2,567 คัน หรือคิดเป็น 5% ของจำนวนยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ขณะที่รถบรรทุกไฟฟ้ามีจำนวน 461 คัน หรือประมาณ 0.20% และรถตู้ไฟฟ้ามีจำนวน 434 คัน หรือประมาณ 0.03% โดยปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในระยะถัดไป คือ แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกสาขาคมนาคมขนส่ง มาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ โดยสามารถหักภาษีได้ 1.5 - 2 เท่า และภาคเอกชนตื่นตัวกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนส่งแบบ Last Mile และแบบเดลิเวอรี่

ดังนั้น แนวทางการปรับตัวและโอกาสที่เอสเอ็มอีจะคว้าได้จากเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ 1. คัดสรรสินค้า/บริการที่ทันสมัยหลากหลายและตอบโจทย์ 2. พัฒนาสินค้า กระบวนการการผลิตและทักษะแรงงานให้สอดรับกับความต้องการในห่วงโซ่อุปทาน และ 3. ขยายโอกาสในการดำเนินธุรกิจร่วมกับผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ที่หันมาให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนมากขึ้น

เปลี่ยนรถองค์กรเป็น Fleet สร้างความคุ้มค่าระยะยาว

นายพูนพัฒน์ โลหารชุน กรรมการสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการให้บริการระบบยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ทั้งจัดหาเครื่องชาร์จ แพลตฟอร์ม และการบริหารจัดการรอบด้าน (Platform & Soft Management) กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานของไทยมีความพร้อมอย่างมากในการดึงดูดการลงทุนจากประเทศผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และด้วยโลจิสติกส์ที่แข็งแรง ส่งผลให้ธุรกิจปรับมาใช้ยานพาหนะในองค์กรในรูปแบบ Fleet เพิ่มมากขึ้น เพราะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในองค์กรอย่างเป็นระบบ

ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านจากรถขนส่งเชิงพาณิชย์จากเชื้อเพลิงเดิมสู่รถขนส่งไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (EV Commercial Fleet) เป็นจำนวน 1 แสนคันในปี 2030 จากปัจจุบันที่มีเพียง 3,000 คัน ซึ่งเทียบสัดส่วนไม่ถึง 1% ของยานยนต์ไฟฟ้าในไทย และด้วยระบบบริหารจัดการของรถขนส่งไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่แตกต่างจากรถไฟฟ้าส่วนบุคคล จากปัจจัยการกำหนดเส้นทาง และการใช้สถานีชาร์จที่มีขนาดแตกต่างกัน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ การออกแบบด้านวิศวกรรมตั้งแต่ต้นจนจบและใช้แพลตฟอร์มไปใช้เพื่อให้เกิด utilization ที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ 5 ปัจจัยหลักที่เอสเอ็มอีต้องคำนึงก่อนตัดสินใจลงทุนใช้ EV Commercial Fleet ประกอบด้วย 1.การวางแผนการดําเนินงาน (Operation Plan) เพื่อให้องค์กรสามารถลดต้นทุนได้สำเร็จในระยะยาวตามเป้าหมายที่วางไว้ 2. การเลือกยานพาหนะ การเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ต้องตอบโจทย์และคุ้มค่าต่อการใช้งานมากที่สุด 3.Charging Infrastructure โครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จไฟฟ้า 4. Energy Management มีระบบจัดการพลังงาน เพื่อช่วยวิเคราะห์ บริหารจัดการ ควบคุม และติดตามการใช้พลังงานไฟฟ้า และ 5.การประเมินต้นทุนโดยรวม ซึ่งผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายแบบครบวงจร

นายวรพจน์ รื่นเริงวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชเซ่น ดิจิตอล จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์สำเร็จรูประบบควบคุม EV Charger เสริมในประเด็นดังกล่าวว่า บริษัทสามารถช่วยคำนวณต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่การตั้งสถานีชาร์จ EV และช่วยธุรกิจกำหนดขีดจำกัดของการใช้ Fleet Card เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันรถบรรทุกไฟฟ้าจะมีต้นทุนสูงกว่ารถที่ใช้แก๊สประมาณ 1.5 เท่า ในต้นทุนพลังงาน และในเชิงการบำรงุรักษา ยานยนต์ไฟฟ้ามีความคุ้มค่าที่ยาวนานกว่าเมื่อเทียบกับรถที่ใช้แก๊ส

สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าต่อยอดธุรกิจและคุณค่าให้เอสเอ็มอี

นายสุรพงษ์ สาเรชพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีพีเอส เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการกรีนโฮม โซลูชั่น กล่าวว่า การที่ประเทศไทยประกาศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ทำให้องค์กรขนาดใหญ่นำร่องในเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนกันไปมากพอสมควร ในมุมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการปรับตัวเองไปสู่เส้นทางสังคมคาร์บอนต่ำ ได้ด้วยการมองการลงทุนสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า โดยติดตั้งได้ทั้งที่สถานที่ทำงาน หรือ เป็นบริการเสริมต่อยอดจากบริการหลัก ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจได้ทั้ง การส่งเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กรกรณีไม่คิดค่าบริการชาร์จไฟฟ้าแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการในธุรกิจหลัก และการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้แก่ตัวผู้ประกอบการเอง ซึ่งเชื่อว่า การลงทุนทำสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะสร้างจุดคุ้มทุนและสร้างความคุ้มค่าให้แก่ธุรกิจในระยะเวลาอันรวดเร็ว

BOI พร้อมหนุนสิทธิประโยชน์ภาษี เร่งลงทุนขนส่งสีเขียว

นางสาวอุษณีย์ ถิ่นเกาะแก้ว นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า ซึ่งการสร้างฐานอุตสาหกรรมอีวี ถือเป็นนโยบายระดับประเทศที่หลายหน่วยงานร่วมกันผลักดัน โดย BOI พร้อมสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีครอบคลุมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกเซกเมนต์ และชิ้นส่วนที่เชื่อมโยงซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งการลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จ โดยต้องมีขนาดลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน ไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs และไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการทั่วไป นอกจากนี้ ทางสำนักงานฯ มีมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ สำหรับกิจการที่แผนจะปรับเปลี่ยนสายการผลิต หรือ การใช้พลังงานทดแทนโดยการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งกิจการที่ดำเนินการอยู่แล้วสามารถขอรับการส่งเสริมจาก BOI ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเคยได้รับส่งเสริมหรือไม่ก็ตาม โดยได้รับสิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในโครงการนั้นๆ

ไทยพาณิชย์นำเสนอสินเชื่อปลุกเอสเอ็มอีรักษ์โลก

นายศุภฤทธิ์ เมฆอรุณกมล ผู้อำนวยการอาวุโส SME Bangkok 1 Function ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารพร้อมสนับสนุนทุกโอกาสการเติบโตให้แก่ลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อนำไปสู่โอกาสในการใช้นวัตกรรมการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนช่วยให้ธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในองค์กร หรือ เพื่อการขนส่งเชิงพาณิชย์ ธนาคารมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ (Sustainable Finance) สินเชื่อระยะยาว ให้วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100% ของโครงการ ดอกเบี้ยพิเศษ 3.99% (1 ปีแรก) ผ่อนนาน 10 ปี วงเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ไม่ต้องใช้หลักประกัน สูงสุด 50 ล้านบาท ผ่อนนาน10 ปี นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถประหยัดพลังงาน วงเงินสูงสุด 30 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 5 ปี เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเปลี่ยนธุรกิจเป็นธุรกิจรักษ์โลก ด้วยเงินทุนสนับสนุนการปรับปรุงด้าน ESG ลงทุนเทคโนโลยีที่ลดการใช้พลังงานและทรัพยากร ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบหรืออุปกรณ์เพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในอาคาร , เงินทุนซื้อรถประหยัดพลังงาน เปลี่ยนยานพาหนะเป็นประเภทไฟฟ้าหรือไฮบริดสำหรับธุรกิจ,สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถติดตามข้อมูลเคล็ดลับธุรกิจ และกิจกรรมงานสัมมนาที่จะเป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจจากธนาคารไทยพาณิชย์และพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการลูกค้าเอสเอ็มอี ผ่านช่องทาง website : www.scb.co.th/th/sme-banking Facebook: www.facebook.com/groups/scbsme/ หรือ ติดต่อสอบถามข้อมูลธุรกิจได้ทาง SCB SME Business Call Center โทร. 02-722-2222


ข่าวโดย:

ประชาสัมพันธ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
สุชีรา พินิจภารการณ์ โทร.094-5192251, sucheera.pinijparakarn@scb.co.th
สุดารัตน์ ชุณหรัต โทร. 091-7577824 E-mail: sudarat.chunharat@scb.co.th

No comments

Powered by Blogger.